dnunet.com ไหมไทยสโมสร


 

 


 

ไหมไทยสโมสร

MAITAI CLUB

 


 

ดาวน์โหลดแบบฟอร์มสมัครสมาชิก ไหมไทยสโมสร [Maitai_Club.pdf]

ท่านสามารถติดตามข่าวสารจากสองสมิตได้ที่เวบไซต์ dnunet.com และ dnunet.com/facebook
อีเมล songsmith@dnunet.com โทรศัพท์ 02-392-0517 โทรสาร 02-381-8992

 


 

================== จดหมายข่าวจากสองสมิต ==================

อัลบั้มรับปีใหม่ ๕๕

สุภัทรา โกราษฎร์
ภาพรัก

ซีดี ราคา 350 บาท วางแผงเร็วๆ นี้

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
http://www.dnunet.com/SongSmith/bhaprak.html

พิเศษ!  สำหรับสมาชิก ไหมไทยสโมสร

สั่งจองวันนี้ ลด 10% (315.- บาท) รับแผ่นไปฟังก่อนใคร

สั่งจอง
1.  โอนเงินเข้าบัญชีชื่อ บริษัท สองสมิต จำกัด บัญชีกระแสรายวัน
เลขที่บัญชี 059-1-03583-5 ธนาคารกสิกรไทย สาขาเอกมัย
2.  ส่งใบสั่งซื้อ(รายละเอียดด้านล่าง) และหลักฐานการโอนเงินมาที่
บ.สองสมิต จำกัด 156 ซอยเอกมัย10 สุขุมวิท63 วัฒนา กรุงเทพฯ 10110
หรือ ทางโทรสารหมายเลข 02-381-8992

โปรดระบุข้อมูลของท่านตามรายการดังนี้
1. ชื่อ, นามสกุล
2. ที่อยู่
3. หมายเลขโทรศัพท์
4. E-mail Address (ถ้ามี)
5. รายการสินค้า และจำนวนที่ต้องการ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร: 02-392-0517
อีเมล: songsmith@dnunet.com

 

 


 

================== จดหมายข่าวจากสองสมิต ==================

อัลบั้มรับหน้าฝนปี ๕๔

ณัฐพร ธรรมาธิ

รักอันเป็นนิรันดร์

ดนู ฮันตระกูล    วงไหมไทย

ซีดี ราคา 350 บาท วางแผงแล้ว

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
http://www.dnunet.com/SongSmith/foreverlove.html

พิเศษ!  สำหรับสมาชิก ไหมไทยสโมสร

สั่งจองวันนี้ ลด 10% (315.- บาท) รับแผ่นไปฟังก่อนใคร

สั่งจอง
1.  โอนเงินเข้าบัญชีชื่อ บริษัท สองสมิต จำกัด บัญชีกระแสรายวัน
เลขที่บัญชี 059-1-03583-5 ธนาคารกสิกรไทย สาขาเอกมัย
2.  ส่งใบสั่งซื้อ(รายละเอียดด้านล่าง) และหลักฐานการโอนเงินมาที่
บ.สองสมิต จำกัด 156 ซอยเอกมัย10 สุขุมวิท63 วัฒนา กรุงเทพฯ 10110
หรือ ทางโทรสารหมายเลข 02-381-8992

โปรดระบุข้อมูลของท่านตามรายการดังนี้
1. ชื่อ, นามสกุล
2. ที่อยู่
3. หมายเลขโทรศัพท์
4. E-mail Address (ถ้ามี)
5. รายการสินค้า และจำนวนที่ต้องการ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร: 02-392-0517
อีเมล: songsmith@dnunet.com

 

 


 


================ สารสัมพันธ์ ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ================

ปฐมบท Intro

สารสัมพันธ์ ไหมไทยสโมสร ฉบับที่ ๒ จะรายงานว่า

  • ซีดีชุด ไหมไทยคอนเสิร์ต จัดวางจำหน่ายแล้ว สมาชิกติดต่อเข้ามาได้ ถ้ามีเพื่อนสนใจรอบข้างจะแนะนำให้สมัครเข้ามาก็ไม่ขัดข้อง ผู้ที่พลาดคอนเสิร์ตจะได้ยินได้ฟังด้วย
  • งานคอนเสิร์ตไหมไทย วชิราวุธ ๑๐๐ ปี ที่สวนลุมฯ เย็นวันอาทิตย์ ๒๑ พ.ย.๕๓ ตรงกับคืนวันลอยกระทง ผู้คนมากันล้นหลามคล่ำคลา รายการเพลงไพเราะเต็มอิ่ม
  • คอนเสิร์ตครั้งต่อไป ๑๙ ธ.ค. ๕๓ ที่วัดซางตาครู้ส รายละเอียด ดูใน dnunet.com

เพลง กรุงเก่า
กรุงเก่า Old City มิใช่ Ancient City เมืองโบราณ กรุงเก่าหมายถึงอะไรอื่นไม่ได้ทั้งนั้น นอกจากอยุธยา มหานครแห่งสยามประเทศที่รับช่วงจากสุโขทัยมาถึงสี่ศตวรรษ อ.ดนูได้ถอดเสียงแห่งความอลังการของราชอาณาจักรสยามสมัยที่รุ่งเรือง ร่มเย็น และเป็นปึกแผ่นยิ่งกว่าสมัยใด
ท่อนหนึ่ง เนิบนาบ เยื้องย่างเยี่ยงพระยาราชสีห์ นำขบวนราชพิธีด้วยช้างทรง แห่แหนเครื่องสูงโดยเหล่าเสนามหาอำมาตย์
ท่อนสอง ปี่โอโบเดี่ยว พาไพร่ฟ้าหน้าใส ใต้ทศพิธราชธรรม และร่มไทรไตรรัตน์ สันถวไมตรีทูตและวานิช เป็นหนึ่งเดียวทั้ง เวียง วัง คลัง นา
ท่อนสาม ย้อนทำนองท่อนหนึ่ง ทอดเวลาจากครรลองสงบร่มเย็น
ท่อนสี่ ทรอมโบนเปล่งสัญญาณแตรศึกฮึกเหิม แปรขบวนทัพรับอริราชศัตรู จากทิศใดมิได้ไหวหวั่นยั่นสะท้าน จวบจนได้สมโภชฉลองชัย
ท่อนห้า กระนั้นไซร้ มิมีสิ่งใดยืนยง ถึงคราวอยุธยาจะล่ม อาณาจักรต้องเสื่อมสลาย จากความไร้รักสามัคคี กรุงเก่าจึงเหลือเพียงซากปรักหักพัง เป็นสัญญานิโรธ สยามานุสติให้เหล่าลูกหลานแลเห็นอนิจจัง ผลแห่งความไม่เที่ยง จากกิเลสตัณหา อันธกาลวิปลาสของไทยด้วยกัน
อดลงท้ายเป็นจดหมายเหตุไม่ได้ ว่า นี้มิใช่หรือ คือเสียงแห่ง นเรศวร มหาราช  ที่คนไทยเท่านั้นจักอาจพร้องด้วยมโนสำนึก และดุริยะญาณ จารประภัสสร มีฤาจะให้ฝรั่งที่ไหนมาเขียน กรุงเก่า ให้คนไทยฟังได้เล่า

Demo – demonstration
การบันทึกเพลงใหม่ในลักษณะสาธิต ค้างจากฉบับที่แล้ว มาจากแนวความคิดที่ว่า สมัยดั้งเดิม ก่อนจะออกผลงานเป็นชุดหนึ่งๆนั้น เขาทำเป็น single แผ่นย่อย มีสองหน้าๆละเพลง ซึ่งได้ผ่านการแสดงสด แก้ไขทั้งทำนอง เนื้อร้อง ฯลฯ มาตามลำดับ ต่อเมื่อรวบรวม single จำนวนมากพอ จึงจะผลิตเป็นชุด เท่ากับทอนขั้นตอนออกเป็นช่วงๆ เราจึงคิดว่า อาศัยสื่อไปรษณีย์อีเล็กทรอนิก เมื่อใดที่ได้เพลงใหม่สักสองเพลง เราจะทำเป็นเพลงลักษณะสาธิต ให้ได้อรรถรสได้มากที่สุด เอามาแปะทางสื่อนี้ ให้สมาชิกถ่ายสัญญาณไปฟังและออกความเห็นติชม เพียงแต่จะรบกวนแรงสนับสนุนเพลงละ ๒๕ บาท ซึ่งเมื่อเพลงนั้นครบชุด อย่างน้อย ๑๒ เพลง เราจะทำแผ่นมีปก พร้อมลายเซ็นและหมายเลขลำดับจำกัด limited edition ส่งให้สมาชิกที่สนับสนุนตามที่ลงทะเบียนไว้ โดยไม่ต้องซื้อหา ว่าไงครับ

ดนตรีในสวน
นี่ก็ย่างเข้าหน้าหนาวและฤดูแห่งเทศกาลแล้ว ครั้งยังเด็ก พ่อกับแม่จะพาเราขึ้นรถพร้อมตะกร้าหวายถัก ปิ่นโตกับข้าวปิกนิก ไปปูเสื่อฟังดนตรีแสดงสดที่สนามหญ้าข้างพิพิธภัณฑ์กรมศิลป์เดิม ที่สวนลุมฯ หรือในสวนสัตว์เขาดินวนาฯ มีวงหลากหลายหมุนเวียนมาแสดงทุกเสาร์อาทิตย์ เดี๋ยวนี้ยังพอหาดูได้ที่สวนลุมฯแห่งเดียว มีวงประจำคือบางกอกซิมโฟนี เพราะมีผู้สนับสนุนออกค่าใช้จ่าย สิล่าสุดได้ข่าวง่องแง่งว่าจะจัดกันไม่ได้อีก เพราะผู้สนับสนุนจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วกิจกรรมเพื่อสังคมเช่นนี้ จะมีผู้ใดอุปถัมภ์เป็นอภินันทนาการสำหรับชาวกรุง หรือชาวบ้านในมณฑลเทศบาลทั่วประเทศได้อีกเล่า
เอาเถิด เราปิดประเด็นเรื่องนั้นไป ที่ผมคิดถึงความเป็นไปได้คือ บรรดาวงโยธวาทิต เอาแค่ใน กทม ก่อน ทั้งจากโรงเรียนเอกชนและที่สังกัด กทม เห็นมีการประกวดประจำปีกันมาตามลำดับ เด็กนักเรียนและผู้ควบคุมวงล้วนขะมักเขม้นฝึกซ้อมกันตลอดทั้งปี เพื่อประกวดครั้งเดียว จากนั้นชาวบ้านชาวเมืองก็ไม่ได้มีโอกาสชื่นชมแบ่งปันความปลื้มโสมนัส ร่วมกับเด็กนักดนตรีอนาคตแห่งชาติเหล่านั้นอีก ถ้า กทม จะจัดวงเหล่านี้ ผลัดกันมาแสดงที่สวนลุมฯ หรือสวนสาธารณะ จะไม่ได้เลยเชียวหรือ รายการเพลงที่เคยซ้อมไว้ประกวด ย่อมจะหลากหลาย ไม่ว่าประเภทเพลงไทยเดิม เพลงมาร์ช เพลงสมัยนิยม ทั้งตะวันตกและของไทย วงต่างๆเหล่านี้ก็น่าจะมี เพื่อให้เป็นรายการเพลงหรรษารับเทศกาลสำหรับชาวกรุงอย่างเราท่าน ที่ได้ตรากตรำผ่านวิกฤตทั้งด้านเศรษฐกิจการเมือง การสังคม มาตลอดศก ๒๕๕๓ กิจกรรมและการชุมนุมเช่นนี้มิใช่หรือ ที่จะสื่อความรักใคร่สมัครสมานของชุมชนอย่างแท้จริง

โครงการข้างหน้า    

  1. CU In My Dreams เป็นเพลงเน้นจังหวะลีลาศหนักแน่นล้วนๆ บรรเลงและขับร้องโดยนิสิตชมรม CU Band แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น Big Band หรือวงหรรษาดนตรีที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๙ รุ่นที่ได้เข้าเฝ้าถวายงานร่วมบรรเลงกับวง อ.ส. วันศุกร์ และส่งต่อปณิธาน ตกผลึกเป็นเอกลักษณ์ของวงสืบถึงรุ่นปัจจุบัน รายการเพลงมีทั้งรุ่นอมตะของท่านผู้หญิงพวงร้อยฯ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ และของไหมไทย
  2. Maitai Piano Love Songs กว่ายี่สิบปีก่อน ๆเกิดวงไหมไทย โรงเรียนดนตรีศศิลิยะเคยจัดคอนเสิร์ท ให้ อ. ว่าว อนุวัตร (ชื่อเดิม) สืบสุวรรณ แต่งคอนแชร์โตสำหรับเปียโนกับวงเครื่องสาย ชื่อเพลง ดอกไม้บานคอนแชร์โต ได้ อ.ณัฐ ยนตรลักษณ์ เล่นเปียโน คราวนี้ อ.ณัฐ จะมาร่วมกับวงไหมไทยอีก ไม่เล่นเพลงเข้มข้นปานคอนแชร์โต แต่จะพริ้วและพาให้เราท่านได้ดื่มด่ำกับอารมณ์พิศวาส เป็นเพลงรักที่ไม่ค่อยได้ฟังกัน ทั้งๆที่มีกำเนิดในไหมไทยเองนี่แหละ โปรดฟังคำประกาศอีกครั้งหนึ่ง

 
ดนัย ฮันตระกูล

 

================== จดหมายข่าวจากสองสมิต ==================

 

ซีดี ไหมไทย คอนเสิร์ต

ซีดี ไหมไทย คอนเสิร์ต

วางแผงแล้ว

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
http://www.dnunet.com/SongSmith/concertcd.html

 

 


 

ไชคอฟสกี้ - ดุริยกวีอัประมาณ

ผมเริ่มรู้จักไชคอฟสกี้พร้อมกับระบบสเตริโอครับ เมื่อพ่อซื้อวิทยุเครื่องเล่นจานเสียงในตัว เรียกว่าคอนโซล ยี่ห้อชาร์ป ลอเรนซ์ ใหม่เอี่ยมเข้าบ้าน และจานเสียงอีกหลายแผ่น พ่อสาธิตการใช้เครื่อง เพราะรู้ว่าลูกๆซน อย่างไรมันก็แอบมาเล่น สู้สอนเสียเลยดีกว่า เครื่องจะได้ไม่เสีย ชี้ให้เห็นว่าเสียงที่มาจากลำโพงสองข้างนั้นไม่เหมือนกัน มันให้มิติ ความกว้างความลึกของเวที แล้วพ่อก็วางแผ่นเสียง (เพราะวิทยุสมัยนั้นยังไม่มีสเตริโอ) ของไชคอฟสกี้ เป็นเพลงจากบัลเล่ต์เรื่อง Swan Lake หน้าสองคือ Sleeping Beauty หน้าปกมีรูปเวทีบัลเล่ต์และคนเต้น เด็กปานนั้นผมยังอ่านหลังปกไม่ออก และหนังการ์ตูน “เจ้าหญิงนิทรา” วอลท์ ดิสนีย์ยังไม่ได้สร้าง พ่อเล่าทั้งสองเรื่องให้ฟังย่อๆ ผมเปิดฟังได้เองบ่อย แต่ทั้งสองหน้านั้น ผมชอบ Swan Lake มากกว่า เพราะเข้าใจว่าเรื่องทำนองเดียวกับ “พระสุธนกับมโนราห์” ของไทย ทำนองและบทเพลงทั่วไปฟังง่าย เห็นภาพได้ชัดกว่าอีกเรื่อง ยังไม่ได้มีอคติกับเรื่องเจ้าหญิงนิทรา แค่ได้ยินชื่อเรื่อง ก็พาง่วงเหงาหาวนอนเสียแล้ว

โตขึ้นมาจึงรู้จักผลงานไชคอฟสกี้มากขึ้น เช่น 1812 Overture ไปได้ดูคอนเสิร์ตถึงโรงเมทที่นิวยอร์ก และทางวิทยุ หรือแผ่นเสียงที่ซื้อเอง มีอยู่พักหนึ่งฟังบ่อยจนใกล้เลี่ยน มารู้ภายหลังว่า ไชคอฟสกี้เองก็เลี่ยน ไม่ได้อยากแต่งเท่าไหร่ ถ้าไม่ใช่แรงรบเร้าของนิโกลัย รูบินสไตน์ ผู้เป็นทั้งเพื่อนและครูที่ปรึกษา อะไรไม่ว่า เป็นน้องของอาจารย์ใหญ่ที่ต้องเกรงใจ ใช้เวลาแต่งแค่เดือนครึ่งใน เม.ย.1881 ก็เสร็จ ไชคอฟสกี้บ่นกับแม่ยก Nadezhda von Meck (เรื่อง “แม่ยก” ของนักดนตรีเอกนี่น่าสนใจไม่น้อย และสมควรลงรายละเอียดไว้อีกบทหนึ่ง มิใช่หรือ) ว่า “ผมไม่ใช่มือรับจ้างเขียนเพลงงานวัดนะ แต่งตามโจทย์ไปงั้นๆ โหมโรงบทนี้จึงทั้งดังและหนวกหูสิ้นดี ไม่เสนาะเป็นสับปะรด ก็เพราะผมไม่ได้เขียนด้วยความซาบซึ้งหรือพิศวาสอะไรด้วยเลย” นี่แหละ เข้าตำหรับศิลปินยิ่งใหญ่ทั้งหลายพอดี เพราะเพลงที่แต่งทั้งไม่ชอบนี้ ทำเงินให้ตระกูลจากค่าลิขสิทธิ์ทั้งแสดงสดและบันทึกเสียงขายมากที่สุดในโลก

เพลงไพเราะของไชคอฟสกี้อีกเพลงที่จับใจผมมากที่สุดคือ Serenade for Strings in C major ซึ่งแอบเขียนขึ้นมาในช่วงเดียวกับที่เขียน 1812 นัยว่าแก้เซ็ง ถือเป็นงานฝิ่น ของชอบส่วนตัว อยากได้อะไรที่ง่าย ไม่ต้องลึกซึ้ง ได้อิงหลักนิยมคลาสสิกตะวันตก มากกว่าจะลุกขึ้นมาตามที่ลัทธิชาตินิยมเรียกหาอย่าง “แก๊งห้าเสือ” ซึ่งกำลังมาแรงในสมัยนั้น ไชคอฟสกี้ลงมือ ‘เล่น’ กับบทนี้เพื่อแสวงหาแนวร่วมระหว่าง String Quartet กับ Symphony ผลลัพธ์ที่ได้คือเพลงที่แจ่มใสเจิดจรัส เป็นสำเนียงของศตวรรษที่ 18 ผสมผสานกับบาโร๊ค ด้วยลีลาของโมสารทและไฮเด้น ท่อนกลางจังหวะวอลท์ซหวานแหววที่เจ้าตัวถนัดจากเพลงบัลเล่ต์ที่แต่งมาแล้ว

หรือเพลงตับที่เด็กๆฟังแล้วชอบได้ง่าย คือ ตับจากบัลเล่ต์เรื่อง The Nutcracker สององก์ เพลงเพราะทั้งนั้นเลย อาทิ March-Dance of the Sugar Plum Fairy-Trepak (Russian Dance)-Arabian Dance-Chinese Dance-Dance of the Reed Flutes-Waltz of the Flowers ฯลฯ เพลงนี้ใช้เวลาแต่งปีกว่า คือ กุมภา 91 ถึง เมษา 92 เป็นช่วงหลังของไชคอฟสกี้ และถือเป็นงานชิ้นโบว์แดงในแง่การใช้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นแต่ละประเภทให้โดดเด่นขึ้นมา เช่น ระบำรัสเซียนั่น ใช้วงใหญ่ แต่เครื่องสายใช้เฉพาะ high string ซอเสียงสูง คือแค่ไวโอลินและวิโอล่าเท่านั้น เชลโล่และเบสไม่ได้ใช้ เพลง ระบำน้ำชา Chinese Dance ขึ้นมาเน้นๆกับบาสซูนเป็นจังหวะ ขลุ่ยฟลูทเล่นทำนองหลักน่ารัก เสียงสูงปรี๊ด ท่อนหลังของเพลงสั้นๆนี้ แคลริเนทกับเบสแคลริเนท เล่นประสานเสียงกลางคู่กับเสียงต่ำมากเป็นทางประกอบ ถ้าดูสกอร์จะเหมือนพัดคลี่แผ่อย่างไงอย่างงั้น   ดูอีกทีเหมือนกับผีเสื้อบินไม่มีผิด คือไล่ขึ้นบนลงล่างเร็วมาก

ผลงานคุ้นหูคนไทยมากคือ Violin Concerto in D major นัยว่าเป็นหนึ่งในสามที่นิยมกันมากที่สุด และตั้งแต่เด็กก็ได้ยินในเพลงไทยชื่อ “ม่านไทรย้อย” นำเอาทำนองมาใส่เนื้อร้อง “ลืม ลืมหมดแล้วหรือไร...” นั่นแหละครับ ทำนองหวานมากจนใครก็อดจะฮัมเวลาคิดถึงความรักไม่ได้ ซึ่งเพลงบทนี้ ไชคอฟสกี้แต่งหลังจากพักฟื้นเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ไปเที่ยวริมทะเลสาบเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในปี 1878 กับเพื่อนและลูกศิษย์ที่กำลังเรียนไวโอลินอยู่ด้วย เกล็ดของเพลงนี้มีอยู่ว่า ไชคอฟสกี้เขียนเสร็จก็ส่งพิมพ์ หน้าปกมีอุทิศให้นักไวโอลินคนหนึ่ง แต่คนเล่นลังเลอ้ำอึ้ง เพราะจะขอแก้บางประโยคที่ต้องใช้เทคนิคการเล่นยากเกินควร แสดงออกโรงครั้งแรกที่เวียนนา เมื่อ 4 ธันวาคม 1881 จึงไปให้อีกคนเล่น แต่สกอร์ฉบับพิมพ์ยังมี “อุทิศแด่...” ในชื่อคนเดิมอยู่ จนพิมพ์ครั้งที่สองจึงเปลี่ยนเป็นคนเล่นครั้งแรก ออกแสดงครั้งแรกถูกวิจารณ์โขกสับแทบไม่เหลือชิ้นดี ว่า “บาดหูเหลือกำลังรับ... ท่อนสุดท้ายกลิ่นสาบรัสเซียหึ่งเชียว... เป็นครั้งแรกที่ไวโอลินถูกข่มขืนบีฑา...” เหมือนกับที่จิมมี่ เฮ็นดริกส์ ทำกับกีตาร์ของตนในสมัย 70 นี่แหละ จนปี 1905 กว่าคอนแชร์โตบทนี้จะเป็นที่ยอมรับกัน กลิซซันโดโด่งค้างฟ้าคานภาโสต

ผลงานอันเปรียบเสมือนเม็ดมณี หรือร้านขนมของเด็กๆมาสองศตวรรษนี้ น่าจะขัดแย้งกับหัวข้อเรื่องใช่ไหมครับ ใช่แล้ว เดิมตั้งใจจะให้ชื่อว่า ดุริยกวีอัปภาคย์ หรือ ดุริยกวีอัปยศเสียด้วยซ้ำ แต่ความหมายมันไม่ตรงครับ ไชคอฟสกี้แกไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ แล้วก็ไม่ได้ชั่วช้าปานนั้น เพียงแค่มีพฤติกรรมน่าอับอาย โดยเฉพาะสำหรับสังคมผู้ดี ไม่ว่ายุคไหนก็ตาม และกว่าชื่อเสียงแกจะโผล่พ้นน้ำเน่าของวงการนักวิจารณ์ ซึ่งรุมหัวกระหน่ำแกไม่ให้เป็นผู้เป็นคน สาเหตุลึกไม่พ้นความผิดที่ผลงานแกดังมาก ดังนาน และดังเกินขนาดที่สื่อมวลชนจะรับได้นั่นเอง ผลคือความสาหัสถึงกับต้องพึ่งจิตบำบัดสากรรจ์

ประวัติของไชคอฟสกี้สรุปได้ว่า ไชคอฟสกี้ไม่ได้อาภัพหรืออนาถา พ่อเป็นผู้จัดการโรงถลุงเหล็กใหญ่โตของรัสเซีย ด้วยคุณวุฒิวิศวกรเหมืองแร่ แม่เป็นลูกผู้ดีมีการศึกษา เสียตั้งแต่เขาอายุสิบสี่ พ่อส่งเข้าโรงเรียนเอกชนที่เมืองเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก ได้เรียนเปียโนเช่นเด็กใน ‘สังคม’ แม่ส่งเข้าเตรียมนิติศาสตร์ สอบผ่านเข้าโรงเรียนนิติศาสตร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำตั้งแต่ 1850-59 (พฤติกรรมรักร่วมเพศจนเสื่อมเสียทั้งชีวิต ก็รับมาจากโรงเรียนกินนอนนี้แล) ระหว่างเรียนกฎหมาย ได้เป็นนักร้องนำเสียงโซปราโน วงประสานเสียงในโบสถ์ประจำโรงเรียน เมื่อจบแล้วไม่ได้สอบเนฯ แต่เข้าเป็นเสมียนในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งไม่แปลกที่ไชคอฟสกี้ไม่ได้ไปเข้ากระทรวงวัฒนธรรม เพราะอารยประเทศทั้งหลายนั้น เขาถือว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สั่งสมและประพฤติตั้งแต่คนชั้นรากหญ้าขึ้นไปจนถึงระดับยอดของสังคม เป็นลมหายใจเข้าออกที่ไม่ต้องเอามากำหนดเป็นอัตตา มียางอายจนไม่ต้องตั้งเป็นกระทรวง ชื่อว่ากระทรวงวัฒนธรรม

เมื่อเรียนจบฐานะทางครอบครัวยอบแยบ ไชคอฟสกี้เป็นเสมียนอยู่สี่ปีหาเลี้ยงตัวเอง โชคช่วยให้ได้เพื่อนดี พาไปเที่ยวยุโรปและชวนกันไปเรียนดนตรี เป็นศิษย์รุ่นหนึ่งของ St Petersburg Conservatory ปี 1863 จึงลาออกจากเสมียน มาเรียนวิชา Harmony Counterpoint Composition และ Instrumentation ระหว่างนั้นก็หารายได้ไปด้วย จากการสอนพิเศษเปียโนและทฤษฎีดนตรีเบื้องต้นให้เด็กที่อาจารย์ใหญ่ส่งมาให้ กว่าจะได้รับประกาศนียบัตรก็เยิ่นเย้อพอสมควร เพราะไม่เคยทำอะไรได้ถูกใจอาจารย์ใหญ่ คือ Anton Rubinstein เลย ใบระเบียนลงวันที่ 11 เม.ย.1870 ระบุผลการศึกษาว่า ทฤษฎีและการจำแนกใช้เครื่องดนตรี-ดีเลิศ ออร์แกน-ดี เปียโน-ดีมาก การอำนวยเพลง-พอใช้ แต่ที่น่าแปลกใจ ยังความปลาบปลื้มมิรู้ลืมแก่ไชคอฟสกี้ก็คือ เขาได้รับเหรียญเงินสดุดี ซึ่งตั้งแต่เปิดสถาบันมาจนบัดนั้น ยังไม่มีใครได้ถึงเหรียญทอง

จากนั้นได้สอนต่อในสถาบัน มีฐานะพอสมควร ได้เข้าสังคมหรูหรา เคยหลงรักผู้หญิงหัวปักหัวปำ เพราะเธอเป็นนักร้อง อกหักไปตามระเบียบครับ แล้วลูกศิษย์สาวเกิดมาขอแต่งงานด้วย ไม่รู้อะไรทำให้ตกปากรับคำ แต่แต่งอยู่กันโดยไม่มีอะไรกันได้แค่ยี่สิบวันก็สติแตก หนีกระเซอะกระเซิงไปบำบัดแล้วรุดถึงประเทศสวิส โชคชะตาบิดผัน ช่วงเดียวกับที่ถูกขอแต่งงาน เขาได้นารีอุปถัมภ์ ชื่อ Nadezhda von Meck หญิงหม้ายจากสามีวิศวกรรถไฟระดับอัครมหาเศรษฐี เป็นแม่ยกที่ไม่เจอหน้ากันเลย ใช้จดหมายเป็นสื่อ ซึ่งเธอได้ปลอบประโลมจนไชคอฟสกี้หายเดี้ยง และกลับไปทำงานสำคัญที่คั่งค้างขณะนั้นจนจบ เป็นประกาศนียบัตรแห่งชีวิต คือ มหาดุริยะกาพย์หมายเลข 4 งานซึ่งฉายอารมณ์ลุ่มลึก แตกต่างกับเพลงหวานแหววทั้งหลายโดยสิ้นเชิง นี่แหละครับ จึงเป็นที่มาของฉายา ที่ผมให้ไชคอฟสกี้เป็นส่วนตัว

ไชคอฟสกี้นั่นรักและบูชาโมสารทครับ แกเริ่มพบรักเอาดนตรีเป็นชีวิตจิตใจตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เมื่อได้ฟังอุปรากร ดอนโจวานนี่ ของโมสารท จากเครื่องออร์เคสตรีนา (ตู้เครื่องกลดนตรีประดิษฐ์จากท่อออร์แกน หลักการเดียวกับนิ้งหน่องไขลาน) เมื่อเป็นวัยรุ่นจึงได้ไปดูอุปรากรเต็มตาที่เซ็นต์ปีเตอรสเบิร์ก และค้นพบว่า ตัวเองมีพันธสัญญากับดนตรีการ แต่งเพลงยิ่งใหญ่ออกมาได้ส่วนหนึ่ง ก็ด้วยความรักอุทิศแด่โมสารทนี่เอง

แต่จากอัตชีวประวัติ เขียนตั้งแต่ 1889 เพิ่งค้นพบในปี 2002 เราจึงได้เริ่มเห็นอะไรแจ่มชัดขึ้นมา ไชคอฟสกี้เขียนไว้ว่า “(ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา) เรามักจะเล่นเพลงจากดอนโจวานนี่เที่ยวแล้วเที่ยวเล่า หรือไม่ก็ฝึกนิ้วกับเพลงโชว์ดาดๆ มีบางครั้งบางคราที่จะเล่นซิมโฟนี่ของ เบโธเฟ่น แบบพินิจ แปลกนะ เล่นทีไรมันทำให้เรารู้สึกสลด ซึมเศร้าไปเป็นอาทิตย์ ตั้งแต่นั้น เราจึงเร่าร้อนจะแต่งซิมโฟนี่แบบนี้บ้าง เป็นความอยากที่ปะทุขึ้นทุกครั้งที่เข้าไปสัมผัสกับดนตรีของเบโธเฟ่น แต่ทว่า เมื่อรู้สึกเช่นนั้น เราก็อดหดหู่ไม่ได้ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าเรามือไม่ถึง ไม่มีเทคนิคด้านการแต่งระดับนั้น จึงให้เกิดท้อแท้เหลือประมาณ”

นี้คือเจตวาจา ว่าเป็นดุริยะกาพย์ของเบโธเฟ่นนั่นแล้ว ที่จุดประกายให้ไชคอฟสกี้หนุ่ม ลุกขึ้นมาเขียนเพลงของตัวเองมาดใหม่ มิใช่เอาแต่หลบฉากหนีชีวิตจริงไปวันๆ กับอุปรากรของโมสารท เป็น ‘โทมนัส’ เกาะกินใจแกไปตลอดชีวิต ซึ่งจะแผลงฤทธิ์ขึ้นมาทุกครั้งที่ได้แว่วเพลงของเบโธเฟ่น ความข้อหนึ่งที่ฝังใจมาตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าเรียนดนตรีเป็นเรื่องเป็นราว ถึงจะเก่งเปียโน และเคยแต่งเพลงกับน้องตั้งแต่ตัวอายุสี่ขวบ แต่งเพลงอุปรากรและวอลท์ซสำหรับเปียโนตอนยังเรียนนิติฯ แต่เมื่อไปได้ยินดุริยะกาพย์หมายเลข 5 ของเบโธเฟ่น ข้อความของผู้แต่ง ที่ว่า “คือรันทดฝืนฝ่าชะตากรรม จำแต่ดิ้นไขว่หาวราพร tragic struggle with fate and striving after unattainable ideals” ซึ่งบาดลึกกินใจดุริยกวีร่วมรุ่น ปะทุดุริยะกาพย์เภทเดียวกัน เช่น ชูเบิร์ต (Unfinished) บราหมส์ (หมายเลข 1) เบลิออซ (Symphonie fantastique) ฯลฯ

ในขณะที่รักหลงใหลบูชาโมสารทนั้น ไชคอฟสกี้นมัสการเบโธเฟ่นเช่น “ยะโฮวา” แห่งพระคัมภีร์เก่า หรือ พุทธิเทพนั้นเทียว ครั้นได้ศึกษางานของเบโธเฟ่นทั้งๆที่แหยง มากเข้าๆ ก็แพ้ทาง แม้จะถือห่างอย่างสะพรึงกลัว เคยเริ่มเขียนรวบรวมหนังสือชื่อ Beethoven and his Time ไว้ตั้งแต่ 1873 แต่ไม่จบ คำวิเศษณ์และคำนามที่พาดพิงถึงเบโธเฟ่นมีแต่คำว่า colossal titanic giant infallible ฯลฯ เคยเทียบเบโธเฟ่นเสมอมิเคลังเจโลถึงระดับปูชนียะศิลปิน และเหนือความคิดความฝันว่าจะเหยียบย่างทับรอยเท้าได้
ถึงอย่างไร ไชคอฟสกี้ก็ไม่พ้นชะตากรรมเดียวกับสหายท้ายสองย่อหน้าก่อนนั้น แม้จะได้ชื่อเสียงเกินพอจากอุปรากรและเพลงลำนำ (Program music เพลงมีเนื้อหาเรื่องราวประกอบ) และปลอบใจตัวเองเสมอมา ว่าคนเขียนเพลง ไม่ว่าเบโธเฟ่นหรือชูมานน์เขาก็ทำกัน เพื่อเปิดทางสู่ผู้ฟังที่หลากหลาย ไม่ปิดตัวเองอยู่กับงานดุริยางค์ศิลป์ หมกมุ่นอยู่กับเพลงบรรเลง ‘เอาเรื่อง’ ถ่ายเดียว

ที่สำคัญ ไชคอฟสกี้พบว่า ตนเองนั้นอัปภาคย์ไม่แพ้เบโธเฟ่น จากชะตาชีวิตที่เล่นกลพ้นทางรอดเสมอมา เช่น เป็นกำพร้าตั้งแต่เด็กเหมือนตัว ไม่เคยสมหวังด้านชีวิตรักหรือครอบครัว ถูกวงการและสังคมรุมต่อต้าน และอื่นๆอีกหลากหลาย สุดท้ายจึงนั่งลงแต่ง Fourth Symphony ด้วยใจระทึกพลันจนได้ ตามจดหมายถึงแม่ยกฉบับ พฤษภา 1877 ว่าได้เริ่มเขียน เพราะอดรนทนไม่ได้แล้ว ให้รู้สึกประหวั่นขวัญแขวนถ้าละราไปทำอย่างอื่น แล้วกาพย์บทนี้ก็ดำเนินไปอย่างทุลักทุเล เป็นวิบากกรรมแสนสาหัส กว่าจะร่างวางเค้าโครงเสร็จ ลงสีสันลายเส้นเสียง พร้อมเครื่องเคียงลีลาจังหวะกำกับ 29 ธันวา ก่อนสิ้นปี ส่งสกอร์ต้นฉบับไปพิมพ์ที่มอสโคว์ ได้ออกแสดงครั้งแรกเมื่อ 10 กุมภา 1878 อำนวยเพลงโดยนิโกลัย รูบินสไตน์เพื่อนรัก ประสบความสำเร็จล้นหลาม

ด้วยความโล่งอก ที่ได้ฟันฝ่าพ้นพันธนาการทางปัญญาและอารมณ์ได้สำเร็จ ถือเป็นงานชิ้นเอกของตน เสมอ พุทธิเทพ เสมอเพื่อนร่วมวงการและคู่แข่งอย่างบราหมส์

แต่สุขใดไหนจะเหมือน เมื่อแม่ยกเขียนจดหมาย ลง 27 กุมภา ว่า “ฉันดีใจและปลื้มใจมาก ที่ได้เห็นงาน ‘ของเรา’ พ่อเปียแก้วตาดวงใจของฉัน ฉันเป็นสุขกับเธอ ดุริยกวีสมบูรณ์แบบ ที่ได้นำเอาโมหะ โกรธา ความเจ็บปวดคั่งแค้นและวิพากษ์สาธารณ์ทั้งหลายของโลก แปรเปลี่ยนมาเป็นผลงานเอมอิ่มพิสุทธิ์เช่นนี้ สมแล้วกับที่ฉันแลเห็นเธอ เช่นภาพลักษณ์ดุริยกวี ยอดศิลปินแห่งยุคโรแมนติค ที่ฉันชื่นชมเสมอมา”

ดนัย ฮันตระกูล
10 ก.ย. 2553

 


 

เบโธเฟ่น - ดุริยะกวีขบถ

เพลงระดับซิมโฟนี ที่ผมเรียกส่วนตัวว่าดุริยะกาพย์ เพลงแรกที่ผมได้ยินในชีวิตก็คือ Pastoral Symphony (No 6 in F opus 68) สมัยผมอยู่บ้านอา เป็นหอพักนักเรียนประจำที่ศรีราชา ภราดาวิคโตเรียงเอาแผ่นมาถ่ายบันทึกลงแถบเสียงที่บ้านอา เพื่อเอาไปเปิดฟังเองบนเครื่องเล่นเทปส่วนตัวของท่าน ได้บอกชื่อเพลงกับอาไว้ ผมจึงได้รู้ และได้ฟังขณะที่ท่านบันทึกถ่ายสัญญาณไปด้วย เพลงคลาสสิกที่ได้ฟังสมัยแรก อย่างเก่งก็ Minuet in G ของเบโธเฟ่นเหมือนกัน อาจารย์ชูชาติ พิทักษากร ยศพันโทขณะนั้น นำวงจุลดุริยางค์ทหารบกมาเล่นสดออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง 7 สนามเป้า ขณะนั้น เครื่องบันทึกเทป หรือวิดิทัศน์ระดับใช้ออกอากาศ ช่อง 7 ยังไม่มี เพลงคลาสสิกอื่นๆ ที่ผู้การการุณ เก่งระดมยิงเริ่มทำรายการวิทยุ จะให้ออกเสียงระบบเสตอริโอ ยังต้องเปิดวิทยุเอเอมฟังพร้อมกันสองเครื่อง เพื่อรับสองสัญญาณ จึงจะครบสองทิศทาง แต่เพลงที่เปิดยังไม่ถึงระดับดุริยะกาพย์ เป็นแค่เพลงสั้น จบในท่อนเดียว

เนิ่นนานต่อมา ได้ยินผลงานของเบโธเฟ่น (1770-1827) พร้อมกับกิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่ เช่น ท่านเป็นหนึ่งใน 3 B คือ Bach, Beethoven แล้วก็ Brahms ยักษ์ใหญ่แห่งดนตรีการตะวันตก แล้วก็อาศัยติดตามหาอ่านเรื่องของท่าน จากบทความของ น ณ ปากน้ำ ในนิตยสาร “ชาวกรุง” บ้าง อ่านจากปกแผ่นเสียงบ้าง ค้นทางห้องสมุด หรือฟังจากผู้จัดรายการเพลงคลาสสิกทางวิทยุ ได้สาระเกี่ยวกับประวัติของท่านมามาก เรียกว่าส่วนตัวนิยมเป็นแฟนเพลงของท่านมากกว่าดุริยะกวีท่านอื่นใดหมดก็ว่าได้ แต่ เมื่อเริ่มจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับเพลงคลาสสิก จนแล้วจนรอด ผมกลับไม่กล้าเขียนเรื่องของเบโธเฟ่น เพราะสาระหรือประวัติของท่าน แม้แต่เกร็ดเบื้องหลังของเพลงต่างๆของท่าน เท่าที่ผมรู้ มักจะเป็นที่ประจักษ์กันทั่วไปในคอคลาสสิกอยู่แล้ว ซึ่งจะเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนนั้น ย่อมผิดวิสัย อีกประการหนึ่ง ผมรู้สึกลึกๆอยู่เองว่า เบโธเฟ่นท่านยิ่งใหญ่ปานนั้น แต่ปานไหนล่ะ อะไรหรือกรอบใดจึงจะเรียกได้เต็มปากว่าท่านยิ่งใหญ่ สมกับที่เรานิยมชมชื่น แล้วจะเอาอะไรมาเขียนให้เกิดประโยชน์กับคนอ่านได้เล่า

อาจารย์ดนูเคยให้หนังสือปกอ่อนฉบับกระเป๋ามาอ่าน สมัยยังทำโรงเรียนดนตรีศศิลิยะ เป็นหนังสือรวบรวมบทความของเลโอนาร์ด เบิร์นสไตน์  ทั้งข้อเขียน ปาฐกถา รวมทั้งคำบรรยายที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (มีบันทึกเป็นวิดิทัศน์ เรื่อง Unanswered Question: Six Talks at Harvard by Leonard Bernstein, 1973 เหมาะสำหรับครอบครัวพร้อมเด็ก ความยาวทั้งสิ้น 13 ชั่วโมง) กล่าวถึงดุริยะกาพย์หมายเลข 3 “Eroica” (E flat Major, Opus 55) ไว้ว่า “Eroica เปิดตัวมาด้วยคอร์ดสองคอร์ด เริ่มทั้งวงด้วย E flat จากนั้นซอเชลโล่ไล่ทำนองสามโน้ตจากคอร์ดอันทรงพลัง จังหวะสาม-สี่ อย่างสง่าไปได้สามห้อง พอขึ้นห้องที่สี่ โดดไปคอร์ด C sharp เกิดอะไรขึ้น มันเครียดแล้วครับท่าน เพิ่งเริ่มมาได้ห้าห้องนี่เอง เพราะว่ามันเป็นคอร์ดนอกสารบบ นอกวงจร หลุดโลก...” สรุปจากบันทึกวิจารณ์สมัยนั้น พอจะเล่าแบบเกาะติดสถานการณ์ได้ว่า คนที่มาดูและฟังการแสดงดนตรี ย่อมตั้งฐานอารมณ์ไว้เป็นอย่างดี คาดหวังจะยินและยลดนตรีสมัยนั้นตามปกติ แต่เมื่อ Eroica เริ่มบรรเลง ถึงห้องที่ห้าสิเกิดอาการเกร็ง เหลียวหน้าเลิกลั่ก เอ๊ะ อะไรกันนี่ แล้ว symphony ทั่วไปสมัยนั้นทั้งเถากินเวลายี่สิบถึงสามสิบนาที 4 ท่อนๆ ละประมาณ 6 นาที Eroica ท่อนแรกท่อนเดียวกินเข้าไปกว่า 600 ห้อง ยาวร่วมสิบห้านาที นั่งฟังทั้งเถาใจหายใจคว่ำอยู่ร่วมชั่วโมง คิดดูก็แล้วกันนะครับ ว่านั่งเกร็งเคร่งเครียดเป็นชั่วโมง แถมสวมชุดใหญ่ใส่สูทด้วย หนักหนาปานไหน  จะลุกก็เสียดายตังค่าตั๋ว แต่พอทนนั่งฟังไปๆ เอ๊ะ เพลงมันแปลกไปเรื่อยๆ รุ่มรวยรสนักหนา แนวคิดใหม่ๆ กระฉูดออกมาระลอกแล้วระลอกเล่า ไม่รู้จักจบจักสิ้น แต่ยังสานเกี่ยวในโครงสร้างโซนาตา ที่เบโธเฟ่นรับเป็นมรดกตกทอดมาจากศตวรรษก่อน (เพลงนี้แต่งระหว่างปี 1803-04) อะไรไม่ว่า ขณะทำนองกำลังไปรื่นหู จู่ๆ สัญญาณประจำสถานีรบมาอีกแล้ว  

อาจารย์เลโอนาร์ดบอกต่อไปว่า เจ้าคอร์ดสองคอร์ด ตามหลังด้วยคอร์ดนอกระบบนี่แหละ ที่ทำให้ฐานการดนตรีศตวรรษที่สิบเก้า สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั้งวงการ เพราะมันเท่ากับแตรรบเข้าประจัญบานครับ มันคือระฆังราวจากหออาสนวิหาร ส่งสัญญาณว่า ให้เข้าใจเรื่องดนตรีกันเสียใหม่ มันคือ ร็อคแอนด์โรล ระเบิดมาล่วงหน้าก่อนวงบีทเทิ้ลส์ตั้งหนึ่งร้อยหกสิบปี!
ดุริยะกาพย์บทนี้เขียนจบเดือนสิงหาคม 1804 ขึ้นแสดงครั้งแรกวันที่ 7 เมษายน 1805 มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ประดาคนฟังครั้งนั้น หนึ่งในสามเข้าใจ และชื่นชมยินดี อีกหนึ่งในสามฟังไม่รู้หูเลย แต่ยังยกย่องนับถือว่าเบโธเฟ่นเป็นอัจฉริยะ ส่วนที่เหลือ ประสาทเหลือรับประทานครับ โมโหโกรธา ด่าว่า อุเหม่ เอาอะไร (ไม่ได้เรียกว่าเพลงนะครับ) บ้าๆ มาให้ฟังบ๊ะ

เข้าเรื่องแล้วละซี เริ่มจากเพลงนี้เอง ดุริยะกาพย์หมายเลข 3 ซึ่งเจ้าของให้ชื่อว่า “Eroica” ภาษาอิตาเลียน แปลว่า “Heroic” วีระอาจหาญ ผู้กล้า อะไรประมาณนั้น เดิมเจ้าตัวแต่งอุทิศแด่ นโปเลียน โบนาปาร์ต แต่ผู้รับอุทิศไปผิดประพฤติ แทนที่จะเป็นวีรบุรุษของคนสมัยนั้น ตามกติกาของเบโธเฟ่น กลับยกมงกุฎสวมเสียเอง สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ ซึ่งเบโธเฟ่นถือว่าสวนกระแส ผิดประชาทัศน์

อย่าเพ่อตกอกตกใจว่าเอาอะไรเรื่องหนักมาให้เจ็บหัวเสียก่อนเลย อ่านคำขยายง่ายๆ ก่อนเถิด ไม่ว่าท่านจะเป็นหนึ่งส่วนสามไหนในสองย่อหน้าที่แล้วก็ตาม

ที่ว่า ยุคสมัยนั้น เรียกหา ร่ำร้อง เพรียก หรืออะไรก็แล้วแต่ เอากับ “วีรบุรุษ” ในสมัยต้นศตวรรษที่ 19 มันมีเหตุเป็นมาบันทึกไว้ดังนี้ครับ กล่าวคือศตวรรษที่ 18 ในตะวันตกถือเป็น The Age of Enlightenment ยุคแจ้งประจักษ์ ในแง่ปรัชญาความคิดอ่าน ผู้คนมีความรู้ อ่านออกเขียนได้ คิดได้มากขึ้น เรียกว่าความคิดความอ่านดีขึ้น วิทยาการเจริญบรรลุ จึงใฝ่หาอิสรภาพ ขนบ หรือลีลาการใช้ชีวิต (สมัยใหม่มีคำไทยว่า “ไลฟ์สไตล์” ครับ ไทยแท้เลย คอลัมนิสต์คนไหนไม่รู้จักใช้ โอ้โหย น้าหลุดมาจากยุคไหนเนี่ย) ก่อนพ้นศตวรรษที่ 18 ไอ้ที่คิดกัน เอาแต่คิด มันได้แต่คุกรุ่น อกจะแตก มันไม่ไหวแล้ว มันก็ระเบิด ไล่ไปหมดทั้งตะวันตกทั้งยุโรป ในทวีปใหม่อเมริกาก็ประกาศอิสรภาพ มีรัฐธรรมนูญฉบับที่ยืนยงมาสองร้อยปีโดยไม่ต้องเปลี่ยน เพราะนักการเมืองเขามียางอาย ประเทศในอเมริกาใต้ก็มีประกาศสิทธิอะไรกันขึ้นมา แต่ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดคือ วันที่ 14 กรกฎาคม 1789 ประเทศฝรั่งเศสปฏิวัติระบอบการปกครอง จากนั้น เขาก็เลยเรียกสมัยตามหลังมาว่า ยุคปฏิวัติ Revolution แล้วเบโธเฟ่นท่านไปอยู่ตรงนี้พอดี  

ยุคปฏิวัติทางดนตรี แม้แต่กระแสนิยมก็ตีน้ำหนักไปที่วงการนักแต่งเพลงฝรั่งเศส “เกิด” ดุริยกวีฝรั่งเศสหลายท่าน ด้วยสาระล้วนแล้วแต่โหยหาวีรบุรุษ ความยิ่งใหญ่อลังการ อย่างเพลง La Marseillaise ของ Rouget de Lisle ถือกำเนิดที่เมืองมาร์เซย์ เป็นเพลงกราวนอกก่อนยกพลไปช่วยพรรคพวกปฏิวัติที่ปารีส แล้วกลายเป็นเพลงชาติฝรั่งเศสทุกวันนี้นั่น วงเดอะบีทเทิลส์ยังเอาท่อนนำมาเป็นบทเปิดเพลง What You Need Is Love ด้วยอรรถการดนตรีเดียวกัน คือ ได้เวลาลุกขึ้นมาปฏิวัติกันแล้วละเพื่อนเอ๋ย

อนิจจา ดุริยกวีที่ว่าแน่ๆ ของฝรั่งเศส กลายเป็นมือสอง รองจากเวียนนาไปในบัดดล เพราะพี่ลุดวิกหน้ามุ่ยนามว่าเบโธเฟ่นนี่เทียว

แต่ขอย้อนกลับไปยุค Viennese Classical (1730-1820) เปรียบเทียบ จะได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โมสาร์ท ท่านอาจยิ่งใหญ่ ขนาดเล่นบิลเลียด ใช้ชอล์กเขียนแนวดนตรีบนกระดานจดคะแนน ทีละท่อน สอยคิวไป ให้คนลอกโน้ตไป เป็นบทบรรเลงสำหรับโหมโรงอุปรากรคืนนั้น นั่น ท่านยิ่งใหญ่ปานนั้น แต่เบโธเฟ่น กว่าจะได้แต่ละท่อนแต่ละวรรค ต้องร่างแล้วร่างอีก ไม่น้อยกว่าสิบเที่ยว ลองอ่านให้ได้ยินในใจ จนเมื่อมั่นใจว่าตกผลึก จึงเอามาลงกระดาษสกอร์ ซึ่งไม่วายแก้แล้วแก้อีกเหมือนกัน ขีดฆ่าจนหน้ากระดาษแทบไม่มีที่เหลือ ต้องโยงไปที่เส้นโน้ตว่างข้างล่าง ใครเป็นคนลอกโน้ตทำสกอร์ต้นแบบ ถ้าไม่รู้จักท่านดีพอ น่าจะบอกศาลากันไปหลายคน ใครที่ดูภาพยนตร์ เรื่อง Copying Beethoven คงจำตอนที่เด็กสาวคนลอกโน้ต ดุริยะกาพย์ หมายเลข 9 เบโธเฟ่นไปทักเมื่อเห็นว่าเธอลงกลุ่มเสียงประสาน chord จากลายมือต้นฉบับ d minor เป็น d major ทั้งๆที่ตามขนบตำราสมัยนั้น ใครๆก็รู้ ว่าจะต้องลง d minor แต่สาวเจ้าลอกเป็น d major เมื่อเบโธเฟ่นคาดคั้นว่าเธอลอกผิด เธอกลับตอบว่า ตามตัวตนของเบโธเฟ่น ตรงนี้ต้องเป็น d major เพราะท่านไม่เหมือนคนอื่น และไม่จำเป็นต้องถือตามขนบของใครทั้งสิ้น ประวัติจริงตรงนี้เป็นอย่างไร ผมก็ไม่เคยอ่านเจอ เชื่อว่าเป็นการเขียนบทเพื่อแสดงภาพลักษณ์ของเบโธเฟ่นมากกว่า แต่ก็เขียนอย่างคนรู้ดนตรีนะครับ ไม่ได้เขียนส่งเดช เพราะคอร์ดตรงนั้น ฉบับที่ตีพิมพ์เล่นกันมา มันเป็น d major ทั้งๆที่ถ้าเขียนตามสมัยนิยม มันก็ต้องลง d minor อย่างในบทภาพยนตร์นั่นแหละ ซึ่งเกร็ดเล็กๆ แต่ลึกซึ้งอย่างนี้ ทำให้เรารู้จักตัวตนของเบโธเฟ่นได้แจ่มชัดถนัดถนี่ขึ้น

ปี 1792 เมื่อเบโธเฟ่นไปอยู่ที่เวียนนา อายุเพิ่งจะ 22 ยังเป็นละอ่อน แต่ฝีมือเปียโนขจรขจายมาจากเมืองบอนน์แล้ว ที่เวียนนาสิต้องเริ่มสร้างชื่อเสียงกันใหม่ ออกบรรเลงเปียโน ใช้เพลงที่ตนแต่งเองบ้าง แต่สำคัญกว่านั้น ท่านบรรเลงด้วยวิธีด้นจากแนวทำนองในเพลง ของท่านเอง และของคู่แข่งด้วย

การแสดงด้วยวิธีด้นสดอย่างนี้ ไม่เคยมีใครได้เห็นได้ยินมาก่อน บ่อยครั้งท่านเล่นเป็นชั่วโมง ฟังได้เป็นฉากๆ วาดด้วยอารมณ์สุดขั้ว เป็นโศกนาฏกรรม ความปั่นป่วนดั่งทะเลคลั่ง ความหวานซึ้งตรึงใจ หรือความพลุ่งพล่าน พลังที่แสดงออกมาเหล่านี้เอง ที่ทำให้มีคนสนใจ เริ่มเข้าถึงเบโธเฟ่น และด้วยทักษะในการด้นกระชากหัวใจคนฟังเช่นนี้แหละ ได้กลายเป็นการฝึกพิชานเพาะบ่มแนวความคิดใหม่ๆ เอามาใช้ในดุริยะกาพย์ต่อมา รวมทั้งบทเพลงประเภทอื่น เช่น สำหรับเปียโน หรือสำหรับวงเครื่องสายสี่ชิ้น และนับเป็นจุดเปลี่ยน เข้าสู่ มัชฌิมากาล ‘สมัยกลาง’ ของเบโธเฟ่น ด้วยผลงานดุริยะกาพย์ ‘เอโรอิกา’ นี้เอง ที่ดนตรีเริ่มหลุดพ้นจากพันธนาการ เปิดยุคของอิสรเสรีทางด้านความคิดความอ่านของคนชั้นกลางได้อย่างเป็นรูปธรรม

ที่เห็นได้ชัดคือ เอโรอิกา เต็มไปด้วยนาฏกรรมและมหากาพย์แห่งการดิ้นรน ตั้งแต่ท่อนแรกจนโน้ตสุดท้าย เป็นดนตรีที่เร่งเร้า กระหน่ำเข้าถึงหัวจิตหัวใจ ดุริยะกาพย์บทนี้ กลายเป็นคำกิริยา ไม่ใช่แค่นามธรรมเสียแล้ว

ขั้นเหนือกว่านั้น ประมาณปี 1802 เบโธเฟ่นประกาศว่า “ข้าเริ่มงานของข้าสายไปเสียแล้ว ต้องรื้อเข้าวิถีใหม่เสียที” วิถีใหม่นี้ นักประวัติศาสตร์ตีความว่า คือ ‘ยุควีระอาจหาญ’ ของเบโธเฟ่นนั่นเอง เมื่อผลงานของท่านเริ่มดิ่งลงสู่ก้นบึ้งแห่งอารมณ์ของมนุษย์ และเปิดทางสว่างให้แก่ดุริยะกวียุคโรแมนติคต่อมา หรืออีกนัยหนึ่งคือท่านได้ระเบิดเบิกภูผาไว้ให้ แม้ท่านจะจากไปแล้วก็ตาม

และ เอโรอิกา นับเป็นผลงานชิ้นแรกสำหรับ ‘ยุควีระอาจหาญ’ เริ่มตั้งแต่ปี 1803 ไม่ว่าจะด้วยวีรกรรมสุดขนานในเนื้อหา หรือด้วยความยาวของเพลง เทียบได้ว่า นี้คือ Bohemian Rhapsody ของวง Queen บวก Dark Side of the Moon ของ Floyd และ Sgt. Pepper’s Lonely Heart Club Band ของ Beatles รวมกันทีเดียว

อมตวาทีของเบโธเฟ่นที่มีต่อเจ้าชายคาร์ล ลิคนอฟสกี้ (1761-1814) องค์อุปถัมภ์และเพื่อนรักของเบโธเฟ่น ซึ่งอุทิศบทเพลงถวายไว้ 7 บท มีว่า “ดูกรทูลกระหม่อม ที่ท่านเป็นนั้น มาจากอุบัติการณ์ด้วยกำเนิด ที่กระหม่อมเป็น คือตัวกระหม่อมเอง เจ้าชายนั้นมีอยู่นับสหัสสะ และจะมีต่อเนื่องนับไปอีกอสงไขย แต่เบโธเฟ่น มีแค่หนึ่งเดียวนี้แล”

ดนัย ฮันตระกูล
25 ส.ค. 2553

 


 


================= สารสัมพันธ์ ฉบับที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ =================

ปฐมบท Intro

สารสัมพันธ์ ไหมไทยสโมสร ฉบับรื้อฟื้น คงต้องนับ ๑ (หนึ่ง) กันใหม่ เพราะจำไม่ได้ว่าหนังสือเวียนถึงสมาชิกชมรมนิยมไหมไทย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ออกชุด ไหมไทย ๔ เงาไม้ ก.พ.๒๕๓๐ และทำเนียบสมาชิกทยอยขึ้นไปถึงประมาณหนึ่งพันห้าร้อยคน ในรูปจดหมายเกือบ ๒ หน้า เหลือที่ไว้แค่สำหรับพิมพ์ชื่อที่อยู่ เอาไปให้ไปรษณีย์ตอกตราให้นั้น หยุดลงฉบับที่เท่าไหร่

ทำไมถึงเริ่มชมรมนิยมไหมไทยเมื่อขึ้น เงาไม้ ตอบว่า เพราะเป็นชุดแรกที่ผลิตโดยสองสมิต (สมิต – ว. ส. เบิกบาน ยิ้ม) โดยที่ทุนรอนน้อยมาก แม้แต่ชุดแรกเบิกฤกษ์ยังใช้วิธีชื่อว่า ‘โครงการเฟื่องฟ้า ๑’ โดยออกหุ้นบุริมสิทธิ์แก่ญาติมิตรแฟนเพลง รวม ๑๐๐ หุ้นๆละ ๑,๐๐๐ บาท สองสมิตถือเอง ๒๐ หุ้น จึงได้เงินมาเข้าห้องบันทึกเสียง จ่ายค่าโสหุ้ยสารพัด และเป็นชุดแรกที่มีร้องด้วย ขณะเดียวกัน ได้คิดว่า ถ้าเราตั้งใจจะทำเพลงสำหรับคนหมู่น้อย ซึ่งสมัยนั้น ตัวสื่อผลิตคือแถบบันทึกเสียง เรียกว่าเทปคาสเซท มีผู้สนใจติดตามสนับสนุนตั้งแต่ชุด ไหมไทย ๑ จึงอยากจะทำสื่อถึงแฟนเพลง ก็ทำสลากสำหรับลงชื่อที่อยู่แนบกับปกคาสเซท ได้การตอบรับน่าชื่นใจ จึงได้เริ่มทำเนียบในระบบฐานข้อมูล และมีหนังสือเวียนไปตามลำดับ

มีอยู่ช่วงหนึ่ง คิดอัตราก้าวหน้า ภาษาฝรั่งเรียก Proactive คือหนังสือเวียนนี้มันไม่มีเสียง มีแต่ตัวหนังสือ อย่ากระนั้นเลย เราคิดทำวารสารมีเสียง ซึ่งถ้าไปทำรายการวิทยุคงไม่ไหว แต่ถ้าใช้สื่อเป็นเทปคาเซท จะเล่าอะไรให้ฟัง แนะนำเพลง ไปสัมภาษณ์ใคร พาไปฟังการแสดงดนตรีสาธารณะ (ที่ไม่ติดลิขสิทธิ์) พิธีไหว้ครูดนตรีไทยที่ศักดิ์สิทธิ์อลังการที่สุด และหาจารีตอย่างนี้นอกบ้านเรานั้นยาก หรือแม้แต่บันทึกเพลงใหม่ในลักษณะสาธิต Demo – demonstration ร่างเสนอ (เรื่อง Demo นี้ จะขยายความในฉบับหน้า) ฯลฯ ก็สามารถทำได้ คิดสารตะประมวลค่าใช้จ่ายเป็นค่าบันทึกเสียง ค่าเดินทาง เสร็จสรรพเป็นต้นแบบลงเทปแล้ว สมาชิกสามารถรับได้รวมค่าส่งถึงบ้านในอัตราตลับละ ๗๕ บาท (เท่ากับราคาหน้าปกคาสเซท) ช่วงทดลองให้ชำระ ๒ ตลับ สำหรับ ๒ เดือนแรก รวม ๑๕๐ บาท จำนวนขั้นต่ำ ๕๐๐ ราย ได้แจกแจงความคิดนี้ออกทางหนังสือเวียน มีสมาชิกส่งเงินสดในซองหรือธนาณัติมา ๑๕๐ ราย รอจนสิ้นเดือนก็ไม่เพิ่ม เป็นอันว่าต้องส่งเงินคืนสมาชิกไป  โครงการ ‘วารสารมีเสียง’ นั้น เก็บขึ้นหิ้ง

แล้วยังโครงการอื่นอีกหลายอย่าง ที่สองพี่น้องผู้เบิกบานเป็นนิจคิดอยากทำ เพราะเราถือว่ามีหนี้บุญคุณนับอเนกอนันต์ ทั้งหนี้บรรพชน ครูเพลง ครูสอนหนังสือ แต่ไม่แคล้วหนี้หัวใจที่มีต่อผู้อุปถัมภ์สนับสนุนสองสมิตมาเกือบเสี้ยวศตวรรษ เป็นหนี้ที่ไถ่ถอนใช้เท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด

ฉบับ นวปฐมฤกษ์ (เริ่มกันใหม่) นี้ จะไม่ยาวกว่าฉบับต่อๆไป ฉบับนี้ยาวหน่อย อ.ดนูเอง ก็มีเรื่องอีกมากมายจะเล่าให้ท่านฟัง เรื่องของเพลง ประวัติความเป็นมา ทั้งของไทยและของตะวันตก ซึ่งตกผลึกมาเป็นรูปแบบของไหมไทยนี้ อีกนานนับนิรันดร์ครับ กว่าจะเล่าให้ฟังได้ถึงครึ่งที่อยาก

ฉบับหน้าจะเล่าเรื่อง โครงการเพลง Demo เพลง กรุงเก่า และเรื่องอื่นที่ท่านสนใจถามมา

ดนัย ฮันตระกูล

 

================== จดหมายข่าวจากสองสมิต ==================

 

วัดซางตาครู้ส ร่วมกับ บริษัท สองสมิต

เสนอ

คอนเสิร์ต ไหมไทย

ส่งท้ายปีเก่า


ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
http://www.dnunet.com/SongSmith/concert.html

 

 


 


dnunet.com สารบัญดนตรี