Songchef เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ คิดคำ ทำเพลง ชีวิต... คิดแต่เรื่องเพลง คุยกับเขตต์อรัญ คิดถึงเขตต์อรัญ


บทวิจารณ์

 

จากคอลัมน์หนังสือคือเพื่อน นิตยสารแพรว ฉบับที่ 547 (10 มิถุนายน 2545) โดย เรียลแมน

จากประสบการณ์ในฐานะนักแต่งเพลงกว่า 30 ปีของ เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ ถ่ายทอดออกมาเป็นเล่มนี้ ที่แนะวิธีการแต่งเนื้อเพลงหรือคำร้อง สำหรับผู้สนใจการแต่งเนื้อเพลงตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงระดับมืออาชีพ เนื้อหาครบถ้วนทุกรายละเอียด ตั้งแต่โครงสร้างของเพลง เนื้อหาของเพลง การใช้ภาษา การเขียนท่อนฮุกหรือท่อนแยกให้ติดหู การตั้งชื่อเพลงให้น่าสนใจ พร้อมตัวอย่างเพลงประกอบที่ง่ายต่อความเข้าใจ ผนวกเรื่องราวของธุรกิจดนตรี และขั้นตอนในการผลิตเพลง

อยากเป็นนักแต่งเพลงหรือสนใจวงการนี้ก็หาอ่านได้


จากบทความ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1133 ประจำวันที่ 6-12 พฤษภาคม 2545 โดย 'ปราย พันแสง

คิดคำทำเพลง เป็นตำราสอนแต่งเพลงไทย ของ เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ อ่านแล้วสัมผัสได้เลยว่า เป็นการเขียนแบบแล่เนื้อเถือหนัง แบบที่นักเขียนชั้นดีของโลก ชอบพูดกันว่า "อยากเขียนฝากทิ้งไว้กับโลก"นั่นเอง

อะไรที่คิดว่าสอนได้ ผู้เขียนได้ถอดใจ ถ่ายทอดทุกกลเม็ดเคล็ดลับอย่างหมดไส้หมดพุง ไว้ในหนังสือเล่มนี้หมดแล้ว

…ที่อุตส่าห์ตามล่าหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน เพราะอยากอ่านเรื่องเพลงจากแง่มุมของนักเขียนเพลงชั้นเก๋าเจ๋งอย่างคุณเขตต์อรัญ บอกได้เลยว่าไม่ผิดหวังสักนิด

ในบ้านเรานั้น ถ้าใครสักคนลุกขึ้นมาเขียนตำรับตำราประเภทนี้ขึ้นมา ถ้าไม่ใช่คนที่เป็นครูบาอาจารย์โดยตรงอยู่แล้ว ก็มักจะมีเสียงกระแหนะกระแหนว่าเป็นเรื่องมักใหญ่ใฝ่สูง มองว่าเป็นเรื่องสถาปนาตัวเองตั้งตนเป็นกูรู ผู้รู้ หรืออะไรต่อมิอะไร ตามแต่จะว่ากันไป บ้างก็ว่าให้รอจนเจ้าตัวแก่ตายไปแล้ว ค่อยให้คนอื่นทำขึ้นมาจะเข้าทีกว่า

เรามักมองว่าการบันทึกความรู้ประเภทนี้ เป็นเรื่องเชิดชูเกียรติประวัติตัวเอง มากกว่าจะมองว่าเป็นความพยายามในการถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ จากคนหนึ่งสู่คนหนึ่ง หรือจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง

ด้วยพื้นฐานความคิดเช่นนี้เอง ทำให้คนเก่งๆ หลายคนรู้สึกขยาดที่จะเขียนอะไรทำนองนี้ออกมาให้เราอ่านกัน ทำให้ประสบการณ์ความรู้ต่างๆ ที่ควรบันทึกไว้เพื่อเป็นประโยชน์ของคนรุ่นหลังล้มตายหายสาบสูญไปกับเจ้าตัวแล้วจำนวนมาก - - คิดแล้วเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก

ปราชญ์ตะวันตก เคยกล่าวไว้ว่า การสอนกับการปฏิบัติมันคนละเรื่องกัน คนปฏิบัติไม่ได้เรื่อง อาจสอนได้ยอดเยี่ยมมาก เพราะเป็นคนที่มีความรู้กว้างขวางหลากหลาย กลายเป็นผู้สอนที่ประสบความสำเร็จมาก สร้างคนเก่งขึ้นมาอีกมากมายได้

เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ นั้น อาจจะมีข้อยกเว้นไว้บ้างเล็กน้อย เพราะส่วนตัวฉันเองนั้น รู้สึกชื่นชมยกย่องเขา ในฐานะนักปฏิบัติและผู้สอนที่ดีไปพร้อมกันด้วย

 

จากคอลัมน์เช็กสต็อกหนังสือ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1133 ประจำวันที่ 6-12 พฤษภาคม 2545 โดย หนุงหนิง

เจ้าของหนังสือเล่มนี้ก็คือเจ้าของเพลงฮิต เพลงดังมากมาย เช่น บูมเมอแรง นินจา พลิกล็อก เป็นอย่างนี้ตั้งแต่เกิดเลย บ้าหอบฟาง รุ้งกินน้ำ หมื่นฟาเรนไฮต์

ถ้านอกจากชอบฟังเพลงแล้ว ชอบอยากรู้ว่าใครนะที่แต่งเพลงเพราะๆ ได้แบบนี้ ก็จะเห็นชื่อเขาคนนี้บ่อยๆ ล่ะ
คิดคำทำเพลง ถ่ายทอดประสบการณ์กว่า 30 ปีของนักแต่งเพลงมืออาชีพ บอกกันชนิดหมดไส้หมดพุง ไม่หวงไม่กั๊กวิชาเลย สำหรับผู้ที่สนใจจะเอาดีทางนี้

ตั้งแต่วิธีการแต่งเนื้อเพลง คำร้อง การใช้ภาษา การเขียนท่อนฮุก ท่อนแยกให้ติดหู ให้ฮิตโดนใจคนฟัง การตั้งชื่อเพลงต้องน่าสนใจ ซึ่งความจริงเรื่องเหล่านี้อาจจะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การแต่งเพลง เราสามารถนำไปใช้ได้กับเรื่องอื่นๆ ได้อีกตั้งหลายอย่างเนอะ อย่างจะเขียนจดหมายถึงคนรัก ทำไงให้โดนใจเขา อยู่หมัดเรา อ้าว นอกเรื่องแล้วกลับเข้ามาที่หนังสือเล่มนี้ต่อ ยังมีแถมด้วยเรื่องราวของธุรกิจดนตรีและขั้นตอนการผลิตเพลง ซึ่งเรื่องนี้สำคัญไม่ใช่เล่นเหมือนกัน

 

จากคอลัมน์ห้องใต้หลังคา เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 520 วันที่ 20-26 พฤษภาคม 2545 โดย พลูโตน้อย

จากประสบการณ์นักแต่งเพลงกว่า 30 ปี เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ ถ่ายทอดออกมาเป็น คิดคำทำเพลง หนังสือแนะวิธีการแต่งเนื้อเพลงหรือคำร้อง บรรจุเนื้อหาครบถ้วนตั้งแต่โครงสร้างของเพลง เนื้อหา การใช้ภาษา ท่อนฮุกเขียนอย่างไร แล้วจะทำให้ท่อนแยกติดหูมีวิธีไหม รวมถึงการตั้งชื่อเพลงให้น่าสนใจก็มีเหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างเพลงประกอบ บวกกับเรื่องราวของธุรกิจดนตรีและขั้นตอนการผลิตเพลง

 

จากคอลัมน์ ON THE SHELF นิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนพฤษภาคม 2545 โดย นิพพิทา

เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ รวบรวมประสบการณ์ในฐานะนักแต่งเพลงทั้งคำร้องและทำนองร่วม 30 ปี ถ่ายทอดออกมาเป็น คิดคำทำเพลง ศิลปะการแต่งเนื้อเพลงไทย สำหรับคนที่สนใจการแต่งเนื้อเพลงไทย ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับมืออาชีพ

เนื้อหาในเล่มมีทั้งเรื่องโครงสร้างของเพลง การเลือกใช้คำ การตั้งชื่อเพลง การเขียนท่อนฮุกท่อนแยกให้ติดหู ฯลฯ ไปจนถึงขั้นตอนการทำงาน-กว่าจะมาเป็นเพลงเพลงหนึ่งให้ฟังอย่างรื่นหู อย่างที่เขาบอกว่า "เนื้อเพลงที่ดีไม่ใช่อ่านดี แต่ต้องฟังดูดี" พร้อมตัวอย่างประกอบที่ง่ายต่อความเข้าใจ แถมพกด้วยไขข้อข้องใจถึงเบื้องหลังความคิดของเพลง'ยาก'อย่าง ขลุ่ยผิว ฮูเลเล วีณาแกว่งไกว

แม้ไม่สนใจการแต่งเพลง แต่ชอบฟังเพลงไทยก็อ่านได้ เพราะคุณอาจเข้าใจมากขึ้นว่า เพลงที่ดีและน่าฟังนั้นเป็นอย่างไร

 

จากคอลัมน์ คัทลียาจ๊ะจ๋า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ 16 เมษายน 2545 โดย คัทลียา

ตั้งใจจะเขียนหนังสือที่เป็นประโยชน์กับวงการเพลงมาเป็น 10 ปีแล้ว เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ ออกหนังสือ คิดคำทำเพลง ศิลปะการแต่งเนื้อเพลงไทย วางขายที่ศูนย์หนังสือทั้งที่จุฬาฯ และธรรมศาสตร์

 

จากคอลัมน์บนแผงหนังสือ นิตยสารสีสัน ปีที่ 13 ฉบับที่ 11/ 2545

เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ นักแต่งเพลงที่มีงานฮิทติดหูคนฟังอย่าง'บูมเมอแรง' และเพลงเชิงปรัชญามากมายในงานของ สุรสีห์ อิทธิกุล อัสนี-วสันต์ คิดคำทำเพลง เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เรื่องการแต่งเพลงโดยเฉพาะ

คิดคำทำเพลง

หมายเหตุ : เวบไซต์นี้จะย้ายไปอยู่ที่ dnunet.com
และจะเปลี่ยนที่อยู่เป็น dnunet.com/songchef ในภายหลัง
- เวบมาสเตอร์

Songchef เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ คิดคำ ทำเพลง ชีวิต... คิดแต่เรื่องเพลง คุยกับเขตต์อรัญ คิดถึงเขตต์อรัญ