ฟรานซ์ ลิซท์ ๒

ลิซท์ไปรัสเซียในปี 1843 ได้มีโอกาสไปเล่นบทเพลง Ruslan and Lyudmila แต่งโดย มิคาอิล อิวาโนวิช กลิงข่า (1804 – 1857) ผู้ซึ่งมีส่วนผลักดันให้ บาลาคิเลฟ กับพวกชาวรัสเซีย รวมตัวกันเป็นนักแต่งเพลงด้วยวิญญาณของรัสเซีย (ดูในบทแก๊งห้าเสือ) ครั้งนั้นลิซท์อ่านสกอร์จากวงใหญ่เล่นบนเปียโนหลังเดียว เมื่อเล่นจบก็ประกาศทันที ว่านี้คือผลงานสุดยอด โดยวิพากษ์กับกลิงข่าว่า “นายกับวีเบอร์ (คาร์ล มาเรีย ฟอน วีเบอร์ 1786 – 1826 ลูกศิษย์ของไมเกิ้ล ไฮเด้น) เหมือนกับคู่ชิงรักหักสวาทกับสาวคนเดียวกันนั่นแหละ” เป็นดังอุปมาอุปมัย ว่าทั้งสองมักจะชิงดีชิงเด่นด้านผลงานดนตรี โดยไม่ยอมอ่อนข้อให้กันแม้แต่น้อย ที่จริงแล้ว ทั้งสองต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือความเป็นเลิศในผลงานดนตรี คงไม่แปลกที่ลักษณะอาการเช่นนี้ มักจะเกิดขึ้นกับศิลปินร่วมสมัยแขนงเดียวกันเสมอ ไม่ว่าในวงการใดก็ตาม แม้หลายคู่จะต่างวัยกัน และกล่าวได้ว่าเป็นปรากฏการณ์สากล คือเกิดทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ดังนั้น ที่ลิซท์กล่าวเตือนใจกลิงข่าไว้ จึงเสมือนเป็นพระสูตรสำคัญบทหนึ่ง ที่สรุปต้นเหตุของการกินแหนงแคลงใจในหมู่ศิลปินด้วยกัน และเป็นปิยะวาจาอมตะที่ยังคงใช้ได้จนถึงทุกวันนี้

อเล็กซานเดอร์ โบโรดิน (1883 – 1887) นักแต่งเพลงชาวรัสเซีย หนึ่งในห้าเสือ เล่าให้ฟังว่า หลังงานเลี้ยงน้ำชาครั้งหนึ่ง ขุนนางเจ้าของบ้านพาทุกคนไปห้องนั่งเล่น ซึ่งวางเปียโนไว้ และถือโอกาสนำเพลงประเภทแรพโซดีที่ตนแต่ง มาขอให้ลิซท์เล่นและแนะนำวิธีเล่นท่อนนั้นท่อนนี้เป็นวิทยาทาน

ลิซท์หัวเราะร่า เพราะจับได้ว่าเป็นกลอุบายให้เธอแสดงดนตรีฟรีๆ ให้แขกฟังหลังเลี้ยงน้ำชา แต่ก็ไม่ถือสา ตอบว่า “อยากให้เล่นหรือ ได้สิ เป็นไรมี แต่จะขอเล่นซิมโฟนีของนายโบโรดินกับเขาก่อน” หันมาทางโบโรดิน “นายจะเล่นเบสหรือเล่นเสียงสูง?” ซึ่งโบโรดินปฏิเสธทันทีว่าเล่นไม่ได้หรอก แต่ไปขอให้บารอนเนสโอลก้า ฟอน เมเยนดอร์ฟ มาเล่นแทน ซึ่งเธอก็สมัครใจเล่นเฉพาะท่อนช้า Andante โดยลิซท์เล่นทางเบสให้บนเปียโนหลังเดียวกัน โบโรดินฟังเพลงของตนเป็นปลื้มทีเดียว

แต่ลิซท์จะพอใจเพียงแค่นั้นก็หาไม่ “คุณนายช่างมีน้ำใจอะไรเช่นนั้น แต่ขอเล่นกับคนแต่งเถิดนะ อย่าปฏิเสธเลย แต่งมากับมือแท้ๆ จะเล่นไม่ได้เชียวหรือ เรียบเรียงเสียงประสานไว้ออกไพเราะ มานั่งนี่เชียว” ว่าแล้วก็ดึงมือโบโรดินไปนั่งด้านซ้ายให้เล่นทางเบส

โบโรดินใคร่จะเล่นท่อนช้า Andante ซ้ำ เพราะเคยมือ แต่ลิซท์พลิกข้ามไปเล่นท่อนสุดท้าย Finale บทเร็ว Scherzo ทันที แล้วพลิกกลับมาเล่นท่อนแรก กลายเป็นเล่นทั้งซิมโฟนีโดยไม่ละเลยการเล่นกลับต้นตามบท กระนั้นลิซท์ยังไม่ยอมให้เลิก พลิกกลับอีก “เล่นต่อ!”

เมื่อใดที่โบโรดินเล่นผิดหรือข้ามโน้ตไปเสียเฉยๆ ลิซท์จะปรามว่า “อย่าข้าม! กำลังเพราะ!” หลังจบอีกรอบ ลิซท์ยังเล่นซ้ำอีกหลายท่อน ยิ่งเล่นก็เหมือนยิ่งดื่มด่ำกับการค้นพบแนวความคิดใหม่ในเพลง และไม่รีรอที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตรงนั้นตรงนี้อย่างตีแผ่ กับท่อนช้าเธอบอกว่าเป็นผลงานชิ้นเยี่ยม และกับรูปแบบ เธอว่ากำลังดีไม่ฟุ่มเฟือยรุ่มร่าม สรุปว่าดีแล้วทั้งซิมโฟนี

นี่สิ คือศิลปินแท้ ที่ปราศจากอัตตา แต่แลเห็นความงามในศิลปะของผู้อื่น และไม่เคยลังเลที่จะออกปากชมด้วยความจริงใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

เอ็ดวาร์ด กริก (1843 – 1907) เป็นคีตนิพนธ์ชาวนอร์เวย์ วัยอ่อนกว่าลิซท์ 32 ปีพอดี ได้เล่าประสบการณ์ครั้งแต่งเปียโนคอนแชร์โต บันไดเสียง เอ ไมเนอร์ เสร็จใหม่ๆ ยังไม่ได้ออกแสดงหรือตีพิมพ์ แม้แต่ตนเองก็ยังไม่กล้าเล่นสด คือเล่นจากอ่านหน้าเปียโนโดยไม่ฝึกซ้อมสำหรับเล่นแสดง ลิซท์ถามกริกว่า “เล่นเถอะ” กริกได้แต่บ่ายเบี่ยงท่าเดียว ลิซท์จึงฉวยบทเพลงทั้งปึกไปจากลิซท์ เดินเข้าที่เปียโน หันมากล่าวกับผู้ที่ร่วมอยู่ในห้อง หลิ่วตายิ้มพรายตามมาด “ดีล่ะ ถ้างั้น จะแสดงให้ดูว่าฉันก็เล่นไม่ได้เหมือนกัน” ขณะที่นิ้วทั้งสิบพรมลงบนแป้นเปียโนเริ่มเพลงไปแล้ว

กริกเล่าว่า ท่อนแรกลิซท์เล่นเร็วไปหน่อย ฟังไม่ค่อยปะติดปะต่อ กริกจึงเข้าไปทำมือให้จังหวะ การบรรเลงจึงดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะท่อนบรรเลงเดี่ยว ด้นสดจากแนวที่วางให้คร่าวๆ เป็นท่อนแสดงความสามารถสุดฝีมือของนักเปียโน ลิซท์ยิ่งมั่นใจ ไม่แต่จะอ่านโน้ตจากบทที่เขียนให้ทั้งวงมาเล่นบนเปียโนเพียงเท่านั้น ลิซท์ยังหันไปทักทายคนนั้นทีคนนี้ที บทเพลงตรงไหนถูกใจ ก็เอ่ยชมไม่ขาดปาก จนถึงท่อนสองลีลาแช่มช้อยงดงาม และท่อนสามสุดท้ายเร็วรวด ลิซท์ไม่เคยหยุดปากเลย

ซึ่งในท่อนสุดท้าย ก่อนจบทำนองหลักที่สอง กำกับให้เล่นดังมาก มีโน้ตควบสามตัวในจังหวะเดียว โน้ตตัวแรก ทั้งวงจะเปลี่ยนจากจีชาร์ปเป็นจีธรรมดา ขณะที่เปียโนยังเป็นบันไดเสียงไล่อยู่ ขึ้นไปจนสุดมือขวา ลิซท์หยุดเล่นทันที ลุกขึ้นเดินก้าวยาวๆไปจนถึงหน้าห้อง ร้องทำนองไม่ขาดปาก เมื่อถึงโน้ตจีตัวปัญหา ลิซท์หยุดร้อง กางแขนออกสุด ตะโกนก้องว่า “จี จี ไม่ใช่จีชาร์ป! เด็ดขาด! ลูกเล่นสวีดิชแน่แท้!” รุดกลับมาที่เปียโน เล่นท่อนทำนองนี้ซ้ำใหม่จนจบ ยื่นโน้ตเพลงคืนให้กริก กล่าวด้วยน้ำเสียงรักใคร่ว่า “เขียนต่อไป อย่าได้หยุดเทียว บอกให้ก็ได้ว่า เธอมีพรสวรรค์ และอย่าให้ใครบังอาจมาเปลี่ยนแก้ผลงานเธอเป็นอันขาด”

คำของลิซท์มีผลต่อกริกในผลงานตลอดชั่วชีวิต ด้วยเอกลักษณ์ที่กริกยอมรับว่า เนื่องมาจากลิซท์ ซึ่งเขาถือเสมือนเป็นศีลเจิมศักสิทธิ์ให้กริกเปิดบทบาทด้านการประพันธ์เพลงในแบบของตนจากนั้นเป็นต้นมา

 

ในงานแสดงดนตรีผลงานของริชาร์ด วากเนอร์ (1813 – 1883) เมื่อวงบรรเลงบทโหมโรงอุปรากรเรื่อง Tannhauser จบลง แต่เสียงปรบมือผู้ชมไม่ได้กระตือรือร้นอย่างที่ลิซท์พอใจ เธอลุกขึ้นยืนจากระเบียงที่นั่ง และปรบใหม่ด้วยมือกว้างใหญ่ของตน เสียงดังกึกก้องพาผู้ชมหันมาดูเป็นตาเดียว เมื่อรู้ว่าเป็นลิซท์ ผู้ชมปรบตาม “เอาอีก Bis!” ลิซท์ตะโกน “เอาอีก!” ผู้ชมตะโกนตาม วงก็บรรเลงบทโหมโรงซ้ำอีกรอบ จบแล้วผู้ชมหันมาทางลิซท์ ตะโกน “ลิซท์จงเจริญ!ๆ!” เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในงานแสดงดนตรีใดๆ

อีกครั้งหนึ่ง ก่อนงานแสดงดนตรีของวากเนอร์ในกรุงบูดาเปสท์ ประทศฮังการี ได้เกิดกระแสต่อต้านมาทางหน้าหนังสือพิมพ์ ด้วยข้อที่ว่า บูดาเปสท์ไม่ใช่ดินแดนของเยอรมัน แล้วเหตุไฉนชาวฮังการีจึงต้องจ่ายเงินอุปถัมภ์ผลงานของชาวเยอรมันด้วยเล่า บทความหนังสือพิมพ์ทำให้ตั๋วชมการแสดงค้างเติ่ง ไม่มีใครซื้อ จนท่านเคานท์อัลเบิร์ท อัปโปนยี สมาชิกวุฒิสภาของบูดาเปสท์หวั่นวิตก ว่าจะเกิดเหตุไม่งาม และไม่เป็นผลดีต่อเมืองหลวงของฮังการี จึงแจ้งให้ลิซท์ทราบ ทันทีที่รับแจ้ง ลิซท์ตอบกลับมาทางหนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้น ว่าจะร่วมแสดงในคืนเดียวกัน ด้วยบทเพลงเปียโนคอนแชร์โต บันไดเสียงอีแฟลตเมเจอร์ของเบโธเฟน และทันทีที่หนังสือพิมพ์วางแผง ตกสาย ตั๋วชมการแสดงดนตรีก็ขายเกลี้ยง

เหตุผลคือ ลิซท์เป็นผู้ส่งเสริมผลงานอัจฉริยะของริชาร์ด วากเนอร์มาตั้งแต่ต้น ไม่เกี่ยวกับที่วากเนอร์เป็นลูกเขยของตนด้วย คือธิดาคนที่สองของลิซท์ชื่อ โคสิมา ได้สมรสในปี 1857 กับฮานส์ ฟอน บือโลว์ (1830 – 1894) นักเปียโนและวาทยกรมีชื่อ ผู้ซึ่งต่อมาจะปฏิวัติรูปแบบความนิยมในวงการแสดงดนตรีของยุโรป แต่โคสิมา ธิดาของลิซท์ได้หนีตามไปอยู่กินนอกสมรสกับริชาร์ด วากเนอร์ แม้จะสมรสกับบือโลว์อยู่ ยังความปวดร้าวให้ผู้บิดายิ่งนัก

กับจูดิธ โกธิเอร์ (1850 – 1917) นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้เป็นแฟนเหนียวแน่นของวากเนอร์ ลิซท์ได้เผยความในใจครั้งตนสวมเสื้อคลุมนักบวชแล้วว่า “ฉันไม่คิดจะว่ากล่าวคัดค้านการทำตามอำเภอใจของธิดาหรอก แม้จะครองเพศบรรพชิตฉันควรจะพูดถึงเรื่องถูกทำนองครองธรรม ฉันเองรู้ดีถึงความเย้ายวนและกิเลสจากความประพฤติของฉันเองในอดีต เกินกว่าจะไปวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นได้ เพียงแต่ว่า ใจฉันเอง มีความปรารถนามากกว่าใครอื่นหมด ที่จะให้เรื่องนี้จบลงอย่างถูกกบิลเมือง จะได้คลายความระทมทุกข์ของฉันเสียที”

 

เฟลิกส์ ไวน์การ์เนอร์ วาทยากรผู้ชื่นชมผลงานของวากเนอร์ เล่าอย่างขมขื่นว่า เมื่อข่าวมรณกรรมของลิซท์แพร่ไปทั่วแล้ว ปรากฎว่าที่คฤหาสน์ของวากเนอร์กับโคสิมากลับไม่แสดงความยินดียินร้ายสักนิด มีเพียงหลานสาวของลิซท์เท่านั้นที่แต่งดำไว้ทุกข์ งานรื่นเริงยังคงดำเนินเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ธงหน้าโรงละครของวากเนอร์ไม่ได้ลดครึ่งเสาแสดงความเคารพต่อผู้วายชนม์แม้แต่น้อย เสมือนว่าการตายของลิซท์ไม่มีความสำคัญตามบูรณาการที่ลิซท์เคยมีต่อวากเนอร์จนลุความสำเร็จด้านฐานะ อาชีพ งานเทศกาลของคฤหาสน์วาห์นฟรีดของวากเนอร์ดำเนินต่อไป ไม่มีแม้แต่จะแขวนผ้าดำไว้อาลัย และจากนั้นเฟลิกส์ ไวน์การ์เนอร์ ก็ไม่ได้ก้าวเท้าเข้าอาณาจักรของวากเนอร์แม้อีกก้าวเดียว

อังตน รูบินสไตน์ (1829 – 1894) นักเปียโนนักแต่งเพลงชาวรัสเซีย กล่าวไว้ว่า “อย่าได้คิดหาใครไปเปรียบชั้นท่านลิซท์ให้ยากเลย ไม่ว่าในฐานะนักเปียโนหรือนักดนตรี หรือแม้แต่ในแง่สุภาพบุรุษอาชาไนย เพราะอะไรหรือ? เพราะท่านลิซท์ท่านเหนือกว่านั้น ท่านคืออุดมการณ์แห่งยุคต่างหากเล่า”

เอียงก้า โวห์ล ผู้เก็บรวบรวมเรื่องราวของลิซท์เคยถามท่านว่า เคยเขียนประวัติชีวิตของตนเองหรือไม่

“แค่ผ่านมาได้ทุกวันนี้ ฉันยังลำบากไม่พออีกรึ?” ลิซท์ตอบอย่างสุดล้า

 

ฟรานซ์ ลิซท์ เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 1811 เมืองไรดิง ออสเตรีย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 1886 เมืองไบย์รูธ บิดาเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของท่านเคานท์ เอสเตอร์ฮาซี ซึ่งส่งเสียให้เรียนดนตรีกับแซร์นีและซาลิเอรี (คู่ปรับโมสาร์ท) ที่เวียนนา เริ่มออกแสดงเปียโนต่อสาธารณชนเมื่ออายุเพียง 9 ขวบ และเริ่มมีชื่อเสียงในยุโรปตั้งแต่นั้น อายุ 16 ย้ายไปอยู่ปารีสด้วยแรงใฝ่ฝันอยากจะเป็นปากานีนีแห่งเปียโนให้ได้ จึงคร่ำเคร่งศึกษาต่ออีก8 ปี ได้คบหาเป็นเพื่อนสนิทกับโชแปง และเฮ็คเตอร์ แบร์ลิออซ และพบรักกับเคานเทส มารี ดากูลท์ มีลูกด้วยกันสามคน ตระเวนไปทั่วยุโรปแม้แต่กรุงออตโตมาน ประเทศตุรกี 1848 เป็นวาทยากรประจำตำหนักของแกรนด์ดยุคแห่งแซ็ก – ไวมาร์ ต้องเลิกอาชีพแสดงเปียโนและหันมาแต่งเพลง ระหว่างนี้จึงได้อุปถัมภ์วากเนอร์และแบร์ลิออซอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันก็ไปอยู่กินกับเลดี้แคโรไลน์ ฐานันดรเจ้าหญิงซึ่งเลิกจากสามีเจ้าชายมา

หลังจากอยู่ที่ไวมาร์ได้ 13 ปีเต็ม ก็เลิกร้างกับเจ้าหญิง ย้ายไปอยู่โรมใน 1861 และเข้าบวชจนวาระสุดท้าย

ผลงานของลิซท์ นอกจากฝีมือเปียโนและเทคนิคการเล่นที่ล้ำยุค นักเขียน ครู และอุปถัมภกของดนตรีแล้ว ลิซท์กับแบร์ลิออซได้เริ่มรูปแบบดนตรีที่เรียกว่าซิมโฟนิคโปแอม เช่น Tasso, Les Pre’ludes, Orpheus, Prometheus, Mazeppa แต่งซิมโฟนี Faust จากบทประพันธ์ของเกอเธ่ และ Divine Comedy จากดังเต้

ลิซท์แหกกฎรูปแบบเปียโนคอนแชร์โต ซึ่งเขียนไว้ 2 บท บันไดเสียงอีแฟลตเมเจอร์ และเอแฟลตเมเจอร์ โดยกำกับไว้ในบทแรกให้เล่นทั้งสี่ท่อนโดยไม่มีหยุด อย่างซิมโฟนิคโปแอมก็ไม่แยกเป็นสี่ท่อนเช่นซิมโฟนีทั่วไป และไม่ติดยึดว่าจะต้องอยู่ในบันไดเสียงเดียว หากแต่ด้นไปได้ตามแรงบันดาลของเนื้อหาและอารมณ์ของเพลงเป็นสำคัญ จึงกลายเป็นต้นแบบของดนตรียุคอิมเพรสชั่นนิสม์  ทว่า จุดอ่อนของลิซท์คือจินตนาการ ทำให้แนวทำนองหลักค่อนข้างอ่อน ไม่ค่อยริเริ่มและติดจะซ้ำซาก ที่ติดหูคอคอนเสิร์ทน่าจะเป็นประเภทเพลงเดี่ยวเปียโนบทสั้นๆ อันมีเพชรน้ำหนึ่ง คือ  Liebestraum ซึ่งมีคนแต่งคำร้องเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Dream of Love และล่าสุด อันเดรีย บอเชลลี นักร้องเสียงเทเนอร์ชาวอิตาลี (ตาบอด) นำไปร้องในชุด Sentimento กับวงลอนดอนซิมโฟนี ออร์เคสตร้า สังกัดแผ่นฟิลิปส์ เมื่อ ค.ศ. 2002 นี้เอง


 


สารบัญจานหยก

จานหยก บทความโดย ดนัย ฮันตระกูล